ตาแห้ง
ตาแห้ง เป็นภาวะที่พบได้บ่อย เกิดจากการสร้างน้ำตาน้อยหรือมีการระเหยของน้ำตามากเกินไป เนื่องจากมีการเสียสมดุลของบริเวณผิวกระจกตา ร่วมกับการอักเสบของเซลล์ผิวตา ทำให้มีความเข้มข้นของน้ำตาสูงกว่าปกติ
โดยปกติน้ำตามีหน้าที่ให้ความชุ่มชื้นแก่ผิวกระจกตาและเยื่อตา ทำให้ผิวกระจกตาเรียบส่งผลให้การรับและหักเหแสงเป็นระเบียบ นอกจากนั้นน้ำตายังเป็นตัวนำส่งสารอาหารและออกซิเจนให้แก่กระจกตา น้ำตาประกอบด้วยส่วนที่เป็นน้ำถึง 98% นอกนั้นประกอบด้วยน้ำตาล เอ็นไซม์ เกลือแร่ และสารอื่นๆ
ฟิล์มน้ำตาของเราประกอบด้วย 3 ชั้นดังนี้
- ชั้นไขมันเป็นชั้นที่อยู่นอกสุด สร้างจากต่อมไขมันที่เปลือกตา ( meibomian gland) หน้าที่หลักของชั้นนนี้คือป้องกันไม่ให้น้ำตาระเหยเร็วเกินไป
- ชั้นน้ำ เป็นชั้นตรงกลางของฟิล์มน้ำตา เป็นชั้นที่หนาที่สุด สร้างจากต่อมน้ำตา ชั้นนี้ทำหน้าที่ให้ความชุ่มชื้น และให้ออกซิเจนเลี้ยงเซลล์ผิวกกระจกตา
- ชั้นเมือก อยู่ชั้นในสุดของฟิล์มน้ำตา สร้างจากต่อมเมือกบริเวณเยื่อตาขาว ชั้นเมือกนี้มีหน้าที่ ช่วยลดแรงตึงผิวและทำให้ฟิล์มน้ำตาไม่แตกตัวง่าย ช่วยกระจายน้ำตาให้ทั่วผิวกระจกตา ช่วยหล่อลื่นลดการเสียดสีของเปลือกตากับกระจกตาเวลากระพริบตา
อาการของตาแห้ง
- เคืองตา เหมือนมีสิ่งแปลกปลอมในตา
- แสบตา ร้อนๆตา
- น้ำตาไหล
- สู้แสงไม่ได้
- ตามัว
- ปวดกระบอกตา
- ตาแดงเรื่อๆ
- ฝืดตาเวลาตื่นนอน
- รู้สึกเหมือนง่วงนอนตลอดเวลา
ผู้ที่มีโอกาสเกิดตาแห้งได้บ่อย
- อายุมากกว่า 50ปี
- ผู้หญิง
- ใส่คอนแทคเลนส์
- ใช้ยาบางชนิด เช่น ยารักษาสิวกลุ่ม Roaccutane ยารกษาโรคซึมเศร้า ยาแก้ภูมิแพ้
- คนที่มีโรคประจำตัว เช่น ออโต้อิมมูน ภูมิแพ้ โรค Sjogren syndrome
- ผู้ที่ใช้คอมพิวเตอร์หรือมือถือหลายชั่วโมงต่อวัน
- ผู้ที่เคยผ่าตัดแก้ไขสายตาด้วยเลเซอร์
- ผู้ที่อยู่ในวัยหมดประจำเดือน
การตรวจวินิจฉัยที่นิยมทำได้แก่
- การย้อมสีฟลูโอเรสซีน เพื่อดูผิวกระจกตา บริเวณที่แห้ง จะติดสี ผิวกระจกตาจะขรุขระ และการดูการแตกตัวของฟิล์มน้ำตา ลักษณะการแตกตัวจะสามารถบอกสาเหตุของตาแห้งว่าปัญหาอยู่ที่ชั้นใดของฟิล์มน้ำตา เช่นชั้นน้ำ ชั้นไขมัน หรือชั้นเมือก
- การทำ Schirmer’s test เพื่อดูปริมาณน้ำตา
- ตรวจดูสภาพต่อมไขมันที่เปลือกตาว่ามีการอุดตันของต่อมไขมันด้วยหรือไม่
การรักษา
1.การหยอดน้ำตาเทียม
การใช้น้ำตาเทียม เพื่อทดแทนน้ำตาที่ขาดไปยังเป็นการรักษาหลัก น้ำตาเทียมนอกจากจะมีฤทธิ์ช่วยเพิ่มความชุ่มชื้นของกระจกตาแล้ว ยังมีผลในการช่วยสมานแผลของผิวกระจกตาที่ขรุขระจากตาแห้งด้วย ถ้ามีอาการตาแห้งมากแนะนำให้ใช้น้ำตาเทียมที่มีส่วนประกอบของ โซเดียมไฮยาลูโรเนต
2.การอุดท่อน้ำตา
เพื่อให้น้ำตาค้างอยู่ในตานานขึ้น มีทั้งแบบชั่วคราวและถาวร
3.การใช้ยาลดการอักเสบ
เนื่องจากในคนที่ตาแห้งมักมีการอักเสบของผิวกระจกตาร่วมด้วย ดังนั้นอาจจำเป็นต้องใช้ยาแก้อักเสบเพื่อลดการอักเสบ ได้แก่ยาในกลุ่มเสตียรอยด์อ่อนๆหยอด และกลุ่ม cyclosporin ได้แก่ Restasis , Ikervis
4.การใช้ยากระตุ้นการสร้างน้ำตา
ได้แก่ยาที่ชื่อ Diquas ( 3% diquafosol sodium ) เป็นยาในกลุ่ม P2Y2 receptor agonist มีฤทธิ์ช่วยกระตุ้นการขับน้ำและเมือกจากเซลล์เยื่อตา มีผลวิจัยว่าช่วยลดการอักเสบได้ด้วยและ ช่วยรักษาอาการตาแห้งในคนที่มีต่อมไขมันที่เปลือกตาอักเสบ (MGD)
5.การรักษาภาวะ MGD หรือภาวะต่อมไขมันที่เปลือกตาผิดปกติ
เมื่อต่อมไขมันที่เปลือกตาอุดตัน ทำให้ผลิตชั้นไขมันออกมาเคลือบผิวดวงตาได้ไม่ดี จึงทำให้ฟิล์มน้ำตาระเหยเร็ว จึงเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดตาแห้ง การวินิจฉัยภาวะนี้ทำได้โดยการตรวจดูบริเวณเปลือกตา จะเห็นเปลือกตามีลักษณะไม่เรียบ มีเส้นเลือดมากกว่าปกติ มีการอุดตันของต่อมไขมัน และเมื่อกดดูจะได้ไขมันเป็นก้อน แทนที่จะเป็นน้ำใสๆ การรักษาภาวะนี้ควบคู่ไปกับการรักษาตาแห้งเป็นสิ่งสำคัญ ทำได้โดยการทำความสะอาดเปลือกตาเป็นประจำ การประคบอุ่นและ การนวดเปลือกตา
6.การปรับพฤติกรรม และสิ่งแวดล้อม
ในคนที่ต้องใช้หน้าจอทั้งวัน จะทำให้กระพริบตาน้อยลง การกระพริบตาแต่ละครั้งจะช่วยเคลือบน้ำตามาบนผิวตาของเรา จึงควรกระพริบตาบ่อยๆ และ พักสายตาทุกครึ่งชัวโมงดดยการหลับตาสักครู่หรือทอดสายตาไปไกลๆสักพัก แล้วค่อยกลับมาทำงานต่อ การทำงานในห้องแอร์ทั้งวันก็มีส่วนทำให้ตาแห้งด้วย
สรุป
ภาวะตาแห้งเป็นภาวะที่พบได้บ่อยและมักเป็นเรื้อรัง การรักษาที่ถุกต้องและต่อเนื่องสม่ำเสมอเป็นสิ่งจำเป็น สาเหตุของตาแห้งมักเป็นจากหลายปัจจัย ดังนั้นการรักษาจึงจำเป็นต้องใช้หลายวิธีร่วมกัน หากอาการไม่ดีขึ้นควรปรึกษาจักษุแพทย์
เอกสารอ้างอิง
Aragona P, Giannaccare G, Mencucci R, et al
Modern approach to the treatment of dry eye, a complex multifactorial disease: a P.I.C.A.S.S.O. board review
British Journal of Ophthalmology 2021;105:446-453.
Amano S, Inoue K. Effect of topical 3% diquafosol sodium on eyes with dry eye disease and meibomian gland dysfunction. Clin Ophthalmol. 2017;11:1677-1682. Published 2017 Sep 14. doi:10.2147/OPTH.S148167