โรคกระจกตาโก่ง หรือกระจกตาย้วย

โรคกระจกตาโก่ง

โรคกระจกตาโก่ง หรือกระจกตาย้วย

โรคกระจกตาโก่งหรือ keratoconus คือ โรคที่มีลักษณะของกระจกตาบางลงเรื่อยๆร่วมกับการโก่งนูนของกระจกตาเป็นรูปกรวย (ดูรูป) เกิดจากมีความผิดปกติของเส้นใยคอลลาเจนของกระจกตา ทำให้กระจกตาไม่แข็งแรงจึงถูกดันให้โก่งนูนออกมา

ลักษณะทางกายวิภาคของตา

ส่วนที่สำคัญในการทำเลสิกคือ ส่วนที่เป็นบริเวณตาดำของเรา หรือที่เรียกว่ากระจกตานั่นเอง กระจกตาโดยทั่วไปมีความหนาเฉลี่ยประมาณ 530-550 ไมครอน หรือประมาณ 0.5 มิลลิเมตร หากมีความหนาน้อยกว่า 500 ไมครอนถือว่ามีกระจกตาบาง โรคของกระจกตาที่ทำให้มีกระจกตาบางที่พบได้บ่อยได้แก่โรคกระจกตาโก่งหรือย้วย

โรคกระจกตาโก่ง

 

โรคกระจกตาโก่ง

สาเหตุของกระจกตาโก่ง

สาเหตุที่แท้จริงยังไม่ทราบแน่ชัด แต่ปัจจัยเหล่านี้อาจเป็นสาเหตุ ได้แก่

  1. กรรมพันธุ์
  2. การขยี้ตาแรงบ่อยๆเป็นเวลานานๆ มักพบในคนที่เป็นโรคภูมิแพ้ขึ้นตา
  3. พบร่วมกับบางโรค เช่น ดาวน์ซินโดรม
  4. ไม่ทราบสาเหตุ

อาการ

มักจะเริ่มเป็นในช่วงวัยรุ่น อายุ 10กว่าปีขึ้นไป เริ่มแรกอาจไม่มีอาการ แต่เมื่อกระจกตาโก่งมากขึ้นจะมีอาการตามัว สายตาเปลี่ยนแปลงต้องเปลี่ยนแว่นบ่อยๆ มีสายตาสั้น สายตาเอียงเอียงเพิ่มขึ้นมากผิดปกติ เห็นภาพบิดเบี้ยว ใส่แว่นแล้วยังไม่ชัด มีอาการสู้แสงไม่ได้ ในบางคนหากเป็นน้อย อาจไม่มีอาการ และคงที่อยู่เช่นนั้น และมักทราบเมื่อมาตรวจประเมินสภาพตาเพื่อทำเลสิก ส่วนใหญ่มักเป็นทั้งสองตา พบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย มีรายงานว่าพบได้ประมาณ 1ใน 2000คน
ในบางคนที่เป็นมากกระจกตาจะบางลงจนบวมน้ำและแตกได้ เกิดเป็นแผลเป็นที่กระจกตา ทำให้การมองเห็นแย่ลง

การวินิจฉัย

มักตรวจพบจากการตรวจประเมินสภาพตาเพื่อทำเลสิก ด้วยเครื่องมือที่ใช้แสกนกระจกตา หรือที่เรียกว่า corneal topography ซึ่งสามารถถ่ายภาพกระจกตาและให้ข้อมูลเกี่ยวกับรูปร่างของกระจกตาอย่างละเอียด (ดูรูป)

โรคนี้เป็นข้อห้ามในการทำเลสิก เนื่องจากจะทำให้กระจกตาอ่อนแอมากขึ้นและโรคกำเริบมากขึ้น

การรักษา

ขึ้นกับความรุนแรงของโรค มีหลายวิธี

1. หากอาการไม่มาก อาจแก้ไขให้มองเห็นได้ดีขึ้นด้วยการใส่แว่น

2. ใส่คอนแทคเลนส์ ซึ่งมีคอนแทคเลนส์แบบพิเศษหลายชนิดสำหรับผู้ป่วยโรคนี้ เช่น scleral lens , RGP lens

3. การฉายแสงที่กระจกตา (corneal crosslinking ) เป็นการฉายแสงอัลตร้าไวโอเล็ตร่วมกับวิตามินบี (riboflavin) เพื่อทำให้เส้นใยคอลลาเจแข็งแรงขึ้น เหมาะสำหรับผู้ป่วยที่มีกระจกตาโก่งมากขึ้นเรื่อยๆ อย่างไรก็ดี วิธีนี้ไม่เหมาะกับคนที่มีกระจกตาหนาน้อยกว่า 400 ไมครอน ในคนที่เคยมีประวัติติดเชื้อเริมที่กระจกตามาก่อน หรือคนที่มีการหายของแผลที่ผิวกระจกตาผิดปกติ

4.การผ่าตัดใส่วงแหวนที่กระจกตา (Ferrara ring) โดยวงแวนจะไปขึงกระจกตา ทำให้กระจกตาแบนลงและมีความโค้งใกล้เคียงปกติมากขึ้น เพื่อให้สามารถใส่แว่นหรือคอนแทคเลนส์แก้ไขสายตาได้ เหมาะสำหรับคนที่มีกระจกตาโก่งแต่ไม่สามารถใส่แว่นหรือคอนแทคเลนส์ให้มองเห็นดีขึ้นได้ เนื่องจากสายตาเอียงมากเกินไปหรือโก่งมาก

5.การผ่าตัดเปลี่ยนกระจกตา ใช้ในกรณีที่กระจกตาโก่งขั้นรุนแรง หรือมีแผลเป็นที่กระจกตาร่วมด้วย ไม่สามารถแก้ไขได้ด้วยคอนแทคเลนส์ การผ่าตัดเปลี่ยนกระจกตาจะช่วยแก้ไขความโค้งของกระจกตาให้ใกล้เคียงภาวะปกติได้ ช่วยทำให้มองเห็นได้ดีขึ้น

แหล่งอ้างอิง

Asimellis G, Kaufman EJ. Keratoconus. [Updated 2020 Dec 28]. In: StatPearls [Internet]. Treasure Island (FL): StatPearls Publishing; 2021 Jan-. Available from: https://www.ncbi.nlm.nih.gov/books/NBK470435/