PRK คืออะไร
PRK ย่อมาจาก Photo Refractive Keratectomy เป็นวิธีรักษาสายตา ที่ประกอบด้วย 2 ขั้นตอนคือ
- การลอกผิวกระจกตา ด้วยสารละลายอัลกอฮอล์เจือจาง
- การเลเซอร์แก้ไขสายตา
การทำ PRK จะแตกต่างจากการทำเลสิกคือไม่มีการแยกชั้นกระจกตา เราจะใช้เพียงการลอกบริเวณผิวของกระจกตาเท่านั้น แล้วใช้เลเซอร์ปรับความโค้งของกระจกตา ให้สายตากลับมาเป็นปกติhttps://www.youtube.com/watch?v=d9-F8p4mzHY
สารบัญเนื้อหา
ประวัติความเป็นมาของ PRK
PRK เป็นการรักษาสายตาด้วยการใช้เลเซอร์ ที่มีมาก่อนเลสิก มีการเริ่มทำครั้งแรกในปี 1987 โดย Dr. Stephen Trokel ซึ่งประสบความสำเร็จด้วยดี และได้รับการยอมรับจาก FDAในปี 1995 จนถึงปัจจุบัน PRK ยังเป็นวิธีการรักษาที่ได้ผลดี สามารถรักษาได้ทั้งสายตาสั้น สายตายาว และสายตาเอียง และนิยมใช้ในบางกรณี เช่น คนไข้ที่มีกระจกตาบาง คนที่มีแผลเป็นที่กระจกตา คนไข้ที่ต้องการความแข็งแรงของกระจกตามากๆ
การทำ PRK เจ็บไหม
การทำ PRK จะใช้เวลาสั้นมาก เพียงข้างละประมาณ 5 นาทีเท่านั้น และมีการหยอดยาชาเป็นระยะ จึงไม่เจ็บ แต่หลังทำเสร็จแล้วจะเจ็บเคือง อยู่ประมาณ 3-4 วัน แล้วจะค่อยๆ ดีขึ้นค่ะ
trans PRK แตกต่างจาก PRK อย่างไร
Trans PRK ย่อมาจาก transepithelial Photorefractive keratectomy หมายถึงการยิงเลเซอร์ผ่านผิวกระจกตา เป็นวิธีการที่พัฒนาต่อยอดมาจาก PRK แบบเดิม มีความแตกต่างกันคือ ใน PRK เราใช้สารละลายอัลกอฮอล์ในขั้นตอนของการลอกผิวกระจกตา แต่ trans PRK เป็นวิธีการใหม่ โดยใช้ software ที่ทำให้เราสามารถลอกผิวกระจกตาด้วยเลเซอร์ แทนการใช้อัลกอฮอล์ แล้วต่อด้วยขั้นตอนของการเลเซอร์แก้ไขสายตา จึงเป็นเหมือน one step , no touch เทคนิคtrans PRK มีข้อดีคือแผลจะเล็กกว่า เรียบกว่า จึงทำให้การหายของแผลเร็วกว่า และการฟื้นตัวของการมองเห็นจะเร็ววกว่าวิธี PRK แบบเดิม
trans PRK แก้ไขสายตาอะไรได้บ้าง
สามารถรักษาได้ทั้ง
- สายตาสั้น
- สายตายาว
- สายตาเอียง
แต่จะมีข้อจำกัดที่ไม่สามารถรักษาค่าสายตาได้มากเท่าวิธีเลสิก เช่น ในกรณีที่สั้นและเอียงมากๆ
trans PRK/PRK เหมาะกับใคร
โดยทั่วไปมักทำในคนไข้ที่กระจกตาบาง หรือชอบเล่นกีฬาที่ต้องมีการปะทะ เช่น ชกมวย หรือเหตุผลทางด้านอาชีพ เช่น สอบทหาร เพราะการที่ไม่มีการแยกชั้นกระจกตาจึงทำให้แผลแข็งแรงกว่าวิธีอื่น สำหรับข้อดี ข้อเสีย ของวิธี Trans PRK/PRK นั้น ข้อดีคือในแง่ของความแข็งแรงของกระจกตาหลังทำ จะมีความแข็งแรงมากกว่าวิธีเลสิก และการที่ไม่มีการแยกชั้นกระจกตาทำให้ตาแห้งน้อยกว่า ส่วนข้อเสียคือหลังทำเจ็บเคืองมากกว่าวิธีเลสิก และใช้เวลาพักฟื้นนานกว่า การมองเห็นจะค่อยๆ ดีขึ้นเรื่อยๆ ใน 2- 4 เดือนเป็นส่วนใหญ่
ส่วนขั้นตอนการตรวจตาเพื่อทำ PRK การเตรียมตัวในวันผ่าตัด PRK เหมือนกับการเตรียมตัวในผู้ป่วยที่จะทำเลสิก ผลข้างเคียงของ trans PRK/PRK เช่นเดียวกับการทำเลสิก แต่มักมีตาแห้งน้อยกว่าหากอยากทราบว่าตาของเราเหมาะกับวิธีใดมากกว่ากันระหว่าง trans PRK กับ เลสิก หมอแนะนำให้นัดเข้ามาตรวจตาอย่างละเอียด และแพทย์จะแนะนำวิธีที่เหมาะสมกับคนไข้แต่ละรายโดยทั่วไปเราจะเลือกใช้วิธี trans PRK ในคนไข้ที่
- มีกระจกตาบาง มีความหนาของกระจกตาไม่เพียงพอที่จะทำเลสิก
- คนที่เล่นกีฬาที่มีการปะทะ เช่นนักมวย เพราะวิธีนี้เวลาหายแล้วกระจกตาจะเป็นเนื้อเดียวกัน
- อาชีพ เช่น ทหาร หรือเตรียมสอบทหาร
- คนที่ผลแสกนกระจกตามีลักษณะก้ำกึ่ง ไม่ปกติ เช่น มีความโค้งกระจกตาด้านล่างแตกต่างจากด้านบนมากกว่าคนทั่วไป
- คนที่ตาตี่หรือตาเล็ก ไม่สามารถใส่เครื่องมือที่จะทำเลสิกได้
trans PRK ไม่เหมาะกับใคร
- ตาแห้งมาก
- มีโรคที่มีผลต่อการหายของแผล
- โรคกระจกตาย้วย
- มีต้อหินขั้นรุนแรง
- เบาหวานที่ควบคุมไม่ได้
ข้อดี ข้อเสียของ trans PRK/PRK
ข้อดี
- มีความแข็งแรงของกระจกตามากกว่าวิธีอื่นๆ
- สามารถทำได้ในคนที่กระจกตาค่อนข้างบาง ตาเล็ก
ข้อเสีย
- หลังทำมีอาการเจ็บเคืองตามากกว่าวิธีเลสิก จึงจำเป็นต้องลางานประมาณ 4-5 วัน
- การฟื้นตัวของการมองเห็นช้ากว่า ใช้เวลาประมาณ 2 สัปดาห์ถึง 1 เดือนจึงจะเริ่มเห็นดีขึ้น
- ต้องดูแลหยอดยาอย่างสม่ำเสมอหลังทำ ในช่วง 3-4 เดือนแรก
การเตรียมตัวก่อนมาตรวจ PRK
- โทรนัดวันที่จะเข้ามาตรวจ
- หยุดคอนแทคเลนส์อย่างน้อย 4-7 วัน ยิ่งหยุดนานยิ่งดี ถ้ามีเวลาอาจจะหยุด 1-2 สัปดาห์ก่อนมาตรวจ เพราะผู้ที่ใส่คอนแทคเลนส์มักมีปัญหาตาแห้ง และคอนแทคเลนส์อาจไปเปลี่ยนแปลงรูปร่างของกระจกตาให้ผิดปกติ จึงต้องหยุดใส่เพื่อให้กระจกตากลับมาสู่สภาพปกติ เพื่อให้ผลการตรวจวัดและรักษาแม่นยำมากขึ้น คอนแทคเลนส์ชนิดนิ่ม ควรหยุด 1-2 สัปดาห์ คอนแทคเลนส์ชนิดแข็ง ควรหยุดอย่างน้อย 3 สัปดาห์
- หากคุณเป็นคนที่มีตาแห้งหรือใส่คอนแทคเลนส์ประจำ แนะนำให้หยอดน้ำตาเทียม ชนิดที่ไม่มีสารกันบูดทุก 2ชั่วโมงทุกวันก่อนมาตรวจ
- ไม่ขับรถมาเอง เพราะขั้นตอนการตรวจจะมีการหยอดยาขยายม่านตาเพื่อความแม่นยำในการวัดค่าสายตาและเพื่อตรวจจอประสาทตา ซึ่งจะทำให้ตาพร่าประมาณ 3-4 ชั่วโมง แล้วถึงจะกลับมาเป็นปกติดังเดิม
ควรแจ้งให้แพทย์ผู้รักษาทราบข้อมูลเกี่ยวกับประวัติการรักษาเกี่ยวกับตา และ โรคประจำตัวอื่นๆ รวมถึงประวัติการแพ้ยา
ขั้นตอนการตรวจตาเพื่อทำ PRK
- วัดสายตาด้วยคอมพิวเตอร์ วัดความดันลูกตา อ่านตัวเลข
- วัดค่าสายตาด้วยการลองแว่น
- แสกนกระจกตาด้วยเครื่อง WaveLight topolizer และ Pentacam
- หยอดยาขยายม่านตา
- วัดสายตาหลังม่านตาขยายแล้ว
- พบแพทย์เพื่อตรวจตาอย่างละเอียด แพทย์จะนำข้อมูลทั้งหมดมาประมวลผล และให้คำปรึกษาว่าตาของเราสามารถทำได้หรือไม่ เหมาะกับวิธีไหน โอกาสสำเร็จ ผลข้างเคียง ที่อาจเกิดขึ้นได้ ระยะเวลาที่ใช้ในการตรวจทั้งหมดประมาณ 2.30 ชั่วโมง การหยอดยาขยายม่านตาทำเพื่อลดการเพ่งของกล้ามเนื้อตา และช่วยให้หมอสามารถตรวจจอประสาทตาได้อย่างละเอียดด้วยค่ะ
การเตรียมตัวในวันผ่าตัด PRK
- งดแต่งหน้า เพื่อลดโอกาสติดเชื้อของแผล โดยเฉพาะแป้งฝุ่น ซึ่งจะเห็นเป็นฝุ่นผงในตาที่ล้างออกให้หมดได้ยาก
- ไม่ใส่น้ำหอมหรือผลิตภัณฑ์ใส่ผมที่มีกลิ่น เพราะalcohol ในน้ำหอมจะไปจับกับกระจกของเครื่องเลเซอร์ได้
- สระผมมาให้เรียบร้อยในคืนก่อนผ่าตัด เพราะหลังทำจะห้ามน้ำเข้าตา7 วัน จึงไม่สามารถสระผมแบบปกติได้ หลังทำถ้าจะสระผมต้องไปนอนสระที่ร้านในช่วง 7 วันแรก
- ใส่เสื้อกระดุมผ่าหน้า เพื่อให้สะดวกในการถอดและไม่กระทบดวงตาเหมือนเสื้อที่สวมทางศรีษะ
- ควรพาเพื่อนหรือญาติมาเป็นเพื่อนด้วย คนไข้จะไม่สามารถขับรถกลับได้เอง
- สามารถรับประทานอาหารได้ตามปกติ
ขั้นตอนการทำ trans PRK / PRK
สามารถทำเป็นแบบไปกลับ ไม่จำเป็นต้องนอนโรงพยาบาล ใช้เวลาข้างละประมาณ 5 นาที ก่อนทำจะมีการหยอดยาชาและยาปฎิชีวนะที่ตาของคนไข้ก่อน เมื่อเข้าห้องผ่าตัด หมอจะเริ่มทำการรักษาดังนี้
- ใส่ที่ถ่างตา เพื่อเปิดตาให้กว้าง และทำการลอกผิวกระจกตา อาจจด้วย สารละลายอัลกอออล์ หรือ ด้วยเลเซอร์
- เลเซอร์แก้ไขสายตา ตามค่าสายตาของคนไข้แต่ละราย คนไข้ควรมองจ้องไฟให้นิ่งระหว่างยิงเลเซอร์
- เมื่อเสร็จแล้วหมอจะใส่คอนแทคเลนส์ปิดแผลไว้ทั้ง 2 ตา คอนแทคเลนส์จะช่วยลดการปวด เพราะลดการเสียดสีของเปลือกตากับแผลเวลากระพริบตา และช่วยให้แผลหายเร็วยิ่งขึ้น ซึ่งจะใส่ไว้ประมาณ 4-7 วันแล้วหมอจะเอาออกให้เมื่อแผลที่กระจกตาปิดดีแล้ว
การดูแลหลังผ่าตัด PRK
ในช่วง 7 วันแรก ควรปฏิบัติตัวดังนี้
- ห้ามน้ำเข้าตา 7 วัน โดยให้ใช้สำลีชุบน้ำเกลือหมาดๆทำความสะอาดรอบดวงตา และใช้ผ้าสะอาดเช็ดหน้า
- สระผมได้แต่ต้องนอนสระ และระวังไม่ให้น้ำหรือยาสระผมเข้าตา
- ห้ามขยี้ตา หากคอนแทคเลนส์หลุดก่อนนัด ควรแจ้งให้แพทย์ทราบ
- ครอบฝาครอบที่ตาก่อนนอน 7 วัน เพื่อป้องกันเผลอขยี้ตาหรือกดทับตาขณะหลับ
- หยอดยาฆ่าเชื้อ น้ำตาเทียม และยาอื่นๆตามที่แพทย์สั่งอย่างเคร่งครัด
- วิธีหยอดยาให้ถูกต้องคือล้างมือให้สะอาด ซับให้แห้ง แล้วดึงเปลือกตาล่างลง มองขึ้นบน หยดยาลงในกระพุ้งที่เปลือกตาล่าง 1 หยด แล้วหลับตาสักครู่ให้ยาดูดซึม หากมียา 2 ตัวให้หยอดห่างกัน 5 นาที
- ใส่แว่นกันแดด เพื่อป้องกันแสง UV เวลาออกไปข้างนอก อย่างน้อย 6 เดือน แต่ถ้าอยู่ในบ้านหรือในสำนักงาน ไม่จำเป็นต้องใส่แว่นกันแดด
- งดออกกำลังกาย 7 วัน เพื่อไม่ให้เหงื่อเข้าตา หลัง 7 วันสามารถออกกำลังได้ ยกเว้นว่ายน้ำต้องรอ 1 เดือน
- หากมีอาการตาแดง มีขี้ตามากผิดปกติ หรือตาบวมมาก อาจเป็นอาการของการติดเชื้อ ควรแจ้งให้แพทย์ทราบ
อาการที่พบได้หลังทำ trans PRK/PRK
- หลังทำ trans PRK เสร็จประมาณ 1-2 ชั่วโมง ยาชาจะเริ่มหมดฤทธิ์ ทำให้มีอาการปวดตาปานกลางถึงมาก คนไข้จะมีอาการแสบ เคืองตา น้ำตาไหล สู้แสงไม่ได้ หมอแนะนำให้กินยาแก้ปวดและยานอนหลับทันที่ที่ถึงบ้าน แล้วนอนหลับไปเลย
- ในช่วง 1-3 วันแรกจะยังคงมีอาการปวดตา แสบตา ลืมตาไม่ขึ้น และจะค่อยๆดีขึ้นเรื่อยๆทุกวัน ระหว่างนี้ยังไม่ควรใช้สายตา ควรนอนพักมากๆและหยอดยาตามแพทย์สั่ง และควรระวังเรื่องของการดูแลแผล ต้องระมัดระวังเรื่องความสะอาด ป้องกันไม่ให้แผลติดเชื้อ
- วันที่ 4-7 หลังทำ คนไข้จะเริ่มลืมตาได้ดีขึ้น อาการเคืองลดลง เริ่มมองเห็นมากขึ้น ประมาณ 60-70% หมอจะนัดดูแผลประมาณวันที่4 หลังทำ หากแผลปิดแล้ว และไม่ค่อยเคืองตามากมาก อาจจะพิจารณาถอดคอนแทคเลนส์ออก แต่ถ้าคนไข้ยังลืมตาไม่ค่อยได้ ก็จะคงคอนแทคเลนส์ไว้ก่อน และถอดออกตอนครบ 7 วัน
- วันที่ 7-14 หลังทำ แผลมักจะปิดดีแล้ว หลังถอดคอนแทคเลนส์อาจมีเคืองตาสักครู่ แล้วค่อยๆ ดีขึ้น สายตาอาจจะมัวลงกว่าตอนที่ยังมีคอนแทคเลนส์อยู่ แล้วค่อยๆ ดีขึ้นในปลายสัปดาห์ที่ 2
- หลังสองสัปดาห์ขึ้นไป อาการเคืองลดลง แต่ยังมีตาแห้ง สายตาค่อยๆ ชัดขึ้นเรื่อยๆ หมอจะนัดตรวจตาทุกเดือน และเริ่มหยุดยาเมื่อแผลหายดี โดยทั่วไปมักจะต้องหยอดยาปรับการหายของแผลประมาณ 3 เดือน และหยอดน้ำตาเทียมอย่างน้อย 3 เดือน จนตาไม่แห้งแล้วจึงหยุดยาได้ ส่วนใหญ่การมองเห็นจะดีขึ้น
- หลัง 1 เดือนจะมองเห็นประมาณ 80% และดีขึ้นเรื่อยๆ ประมาณ 3 เดือน
ผลข้างเคียงของการทำ PRK
ในการทำ PRK นั้นจะต้องใช้เวลาในการหายของแผลนาน ผลการรักษาจึงค่อนข้างขึ้นกับการหายของแผลของแต่ละคนด้วย ผลข้างเคียงที่พบบ่อยได้แก่
- ตาแห้ง หลังทำจะมีอาการตาแห้งมากขึ้น และค่อยๆดีขึ้นภายใน 3-6 เดือน อย่างไรก็ดี เนื่องจากวิธีนี้ไม่มีการแยกชั้นกระจกตา จึงมักพบตาแห้งน้อยกว่าการทำเลสิก
- จะมีอาการปวดเคือง แสบตา น้ำตาไหล สู้แสงไม่ได้ประมาณ 3-4 วัน และดีขึ้นเมื่อแผลปิดแล้ว แพทย์จะสั่งยาลดอาการปวดและยานอนหลับให้ในช่วงแรก
- ในช่วงแรกหลังทำ อาจมีแผลที่กระจกตาเป็นฝ้าได้ และมักค่อยๆ ดีขึ้นเรื่อยๆใน 3-4 เดือน โดยแพทย์จะให้ยาหยอดตาที่เป็นสเตียรอยด์อ่อนๆ เพื่อช่วยปรับการหายของแผล และช่วยลดการเกิดฝ้า ควรหยอดตามที่แพทย์สั่ง และควรกิน วิตามินซี 500 มิลลิกรัม วันละ 2 ครั้งเช้า เย็น เพื่อช่วยให้แผลหายเร็วขึ้น และ หลีกเลี่ยงการโดนแสงแดด ควรใส่แว่นกันแดดที่กรองแสง UV ได้ 100% นาน 3-6 เดือน เวลาออกไปข้างนอก
- อาจมีการมองเห็นลดลงในเวลากลางคืนได้ในบางราย อาจมีแสงกระจายเวลากลางคืนได้ เช่นเดียวกับการทำเลสิก
การใช้ยาหลังทำ trans PRK/PRK
ยาที่ใช้อาจแตกต่างกันสำหรับแพทย์แต่ละคน สำหรับคนไข้ของหมอ จะได้รับยาและมีวิธีการใช้ตามนี้
- Nevanac เป็นยาแก้อักเสบและแก้ปวด ให้หยอด 3 เวลา ใน 3 วันแรก
- FML เป็นยาแก้อักเสบ ช่วยปรับการหายของแผล เราจะหยอดยาตัวนี้ไปประมาณ 3 เดือน โดยแพทย์จะปรับการใช้ยาเป็นรายบุคคล ควรใช้ตามแพทย์สั่ง
- ยาปฎิชีวนะ หยอดป้องกันแผลติดเชื้อในช่วง 7 วันแรก
- น้ำตาเทียม ชนิดไม่มีสารกันบูด แนะนำให้ใช้ Vislube เนื่องจากมีสาร hyaluronic ที่มีฤทธิ์ช่วยสมานแผล
นอกจากนี้แนะนำให้กิน วิตามินซี เม็ดละ 500 มิลลิกรัม 1 เม็ด เช้า และเย็น ซึ่งจะช่วยในการสร้าง collagen ช่วยให้แผลหายเร็ว
trans PRK ต่างจากการทำเลสิกอย่างไร
การที่เราจะเลือกวิธีไหนดี ระหว่างการทำเลสิก กับ Trans PRK นั้น ควรปรึกษาแพทย์เพื่อขอคำแนะนำว่าตาของเราเหมาะกับวิธีใด โดยทั่วไป วิธี Trans PRK จะเหมาะกับคนไข้ที่มีกระจกตาหนาไม่พอที่จะทำเลสิก หรือคนไข้ที่ตาเล็กหรือตาตี่จนไม่สามารถใส่เครื่องมือสำหรับทำเลสิกได้ หรือมีเหตุผลทางด้านอาชีพ ซึ่งวิธีนี้จะไม่มีการแยกชั้นกระจกตา กระจกตาจึงมีความแข็งแรงหลังทำมากกว่า แต่มีข้อด้อยที่ต้องใช้เวลาพักฟื้นนานกว่า และการฟื้นตัวของการมองเห็นช้ากว่าส่วนวิธีเลสิก จะเหมาะกับคนที่กระจกตามีความหนาเพียงพอ หรือค่าสายตาเยอะมากๆ เป็นวิธีที่มีการแยกชั้นกระจกตา แล้วจึงใช้เลเซอร์ปรับค่าสายตา วิธีนี้มีข้อดีคือใช้เวลาพักฟื้นน้อย การมองเห็นกลับมาเร็ว
ทำเลสิกเหมือนได้เกิดใหม่ เปิดประสบการณ์ใหม่มองโลกชัดเจนสดใสไม่ต้องใช้แว่น สนใจ inbox 🌈🌈😀
👉เลสิก ใช้เวลาเพียงข้างละ 10 นาที ไม่เจ็บ ไม่ต้องนอนโรงพยาบาล ทำวันนี้ พรุ่งนี้ก็มองเห็นแล้ว❤️😀
✅ แพทย์เฉพาะทางด้านเลสิก ประสบการณ์กว่า 15 ปี
✅ เครื่องเลเซอร์รุ่นใหม่ WaveLight EX500 แม่นยำและปลอดภัยสูง
✅ ราคาคุ้มค่า 38,500 มี โปรโมชั่นส่วนลดเพิ่ม ***
✅ ผ่อนสบายๆ 0 % กับบัตรเครดิตที่ร่วมรายการ#เลสิกหมอขนิษฐา #เลสิกไทยนครินทร์
เลสิกหมอขนิษฐา จักษุแพทย์เฉพาะทางด้านเลสิก ประสบการณ์กว่า 15 ปี