รวมสิ่งที่คุณต้องรู้ก่อนตัดสินใจทำเลสิก

เลสิก คืออะไร

เลสิก คืออะไร

เลสิก คือ เทคโนโลยีในการรักษาสายตาสั้น สายตาเอียง และสายตายาวแต่กำเนิด โดยใช้เลเซอร์ที่เรียกว่า excimer laser มาทำการขัดผิวกระจกตาเพื่อปรับเปลี่ยนความโค้งของกระจกตา ทำให้แสงที่ผ่านเข้าตาโฟกัสตกที่ตรงจอประสาทตาพอดี จึงทำให้สายตากลับมาเป็นปกติและมองเห็นภาพชัดเจน เป็นนวัตกรรมที่เปลี่ยนโลกในการรักษาสายตาที่เป็นที่นิยมมากที่สุดในโลก เพราะเป็นวิธีที่แม่นยำ ปลอดภัย รวดเร็ว และไม่เจ็บ โดยใช้เวลารักษาเพียง 10 นาทีต่อข้างและให้ผลการรักษาอย่างถาวรเลสิกได้รับการยอมรับจากองค์การอาหารและยาของสหรัฐอเมริกาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2542 และได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา

สารบัญทำเลสิก

เลสิกเหมาะกับใคร

เหมาะกับคนที่มีปัญหาสายตาสั้น สายตายาว สายตาเอียง แต่ไม่ชอบใส่แว่น ใส่คอนแทคเลนส์ ทั้งนี้เพราะการใส่คอนแทคเลนส์นานๆมักทำให้มีปัญหาตาแห้ง การแพ้คอนแทคเลนส์ การติดเชื้อเป็นแผลที่กระจกตา เลสิกจึงเป็นทางเลือกของคนที่อยากจะมองเห็นชัดเจนด้วยตาเปล่า

ผู้ที่จะทำเลสิกได้ ควรมีคุณสมบัติตามนี้

1.อายุที่สามารถทำเลสิกได้

  • อายุน้อยที่สุดที่ทำเลสิกได้คือตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไปและมีสายตาที่คงที่แล้ว จะทราบได้อย่างไรว่าสายตาของเราคงที่หรือยัง ดูได้จากการวัดค่าสายตาในแต่ละปี หากเปลี่ยนแปลงไม่เกิน 50 (0.50 ไดออปเตอร์) ถือว่าคงที่แล้ว
  • อายุมากสุดที่ทำเลสิกได้คือ ช่วงอายุประมาณ 50-55 ปี โดยที่ยังไม่มีต้อกระจกหรือโรคตาอื่นๆ

2.ไม่มีโรคตาที่เป็นข้อห้าม ได้แก่

  • โรคกระจกตาย้วย
  • โรคต้อหินขั้นรุนแรง
  • โรคเริมที่กระจกตา
  • โรคตาแห้งขั้นรุนแรง

3.ไม่มีโรคทางกายที่เป็นข้อห้าม เช่นโรคภูมิแพ้ตัวเอง โรครูมาตอยด์ โรค SLE หรือโรคพุ่มพวง

4.ไม่อยู่ในระหว่างตั้งครรภ์หรือให้นมบุตร เนื่องจากจะมีการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนมาก

5.ไม่ได้กินยารักษาสิวกลุ่ม ROACCUTANE ซึ่งจะทำให้ตาแห้งมาก หากกินยานี้อยู่ควรหยุดอย่างน้อย 1-3 เดือน จนอาการตาแห้งดีขึ้นแล้ว จึงสามารถทำเลสิกได้

หากไม่แน่ใจว่าตัวเราเหมาะกับเลสิกหรือไม่ แนะนำให้รับการตรวจและปรึกษาจากแพทย์เฉพาะทางด้านเลสิกโดยตรง เนื่องจากคนไข้แต่ละท่านอาจมีปัจจัยอื่นๆ ที่ต้องพิจารณาร่วมกันในแต่ละราย

ค่าสายตาเท่าไหร่ทำเลสิกได้

เลสิกสามารถรักษา

  • สายตาสั้น ได้ตั้งแต่ -0.50 ถึง -11.00 (หรือภาษาทั่วๆไปคือสายตาสั้น 50 ถึง 1100 นั่นเอง)
  • สายตาเอียง ได้ถึงประมาณ -5.00
  • สายตายาวแต่กำเนิดได้ถึง +3.00

แต่ทั้งนี้ในการพิจารณารักษาจะขึ้นกับความหนาของกระจกตาและสภาพตาของคนไข้แต่ละบุคคลด้วย

ประวัติความเป็นมาของเลสิก ใครเป็นผู้คิดค้นวิธีรักษา

ต้นกำเนิดของ LASIK นั้น เริ่มต้นจากในปี ค.ศ. 1949 (พ.ศ.2492) Dr. Jose I. Barraquer จักษุแพทย์แห่งประเทศโคลัมเบีย ได้คิดค้นเครื่องมือแยกชั้นกระจกตาด้านนอกออก แล้วนำมาฝนเพื่อเปลี่ยนแปลงรูปร่าง แล้วเย็บกลับเข้าไปที่เดิม เพื่อรักษาสายตาสั้น วิธีการนี้เรียกว่า Keratomileusis (เป็นภาษากรีก แปลว่าการปรับความโค้งของกระจกตา) แต่ผลในช่วงแรกยังไม่แม่นยำนัก

ช่วงปีคศ.1973-1983 ทีมนักวิจัยของ IBM ได้คิดค้น Excimer Laser ที่มีความที่มีความยาวคลื่น 193 นาโนเมตรได้สำเร็จ คุณสมบัติพิเศษของเลเซอร์นี้คือมีความละเอียดและแม่นยำสูงถึงขนาดที่สามารถใช้แกะสลักเส้นผมให้เป็นรูปร่างตามที่ต้องการได้ สามารถขัดผิวกระจกตาให้เรียบ เป็นเลเซอร์เย็นที่ไม่ทำอันตรายต่อเนื้อเยื่อที่อยู่ใกล้เคียง จึงมีความปลอดภัยสูง

เลสิก

ในปี คศ.1983 Dr. Trokel ได้เริ่มนำ เอ็กไซเมอร์เลเซอร์ (Excimer laser)มายิงบนผิวกระจกตา เพื่อรักษาสายตาสั้น ซึ่งถือเป็นจุดเริ่มต้นของการรักษาแบบ PRK หลังจากนั้นได้มีการพัฒนาเทคโนโลยีและเครื่องมืออย่างต่อเนื่องจนกระทั่งในปีคศ. 1990 (พศ.2533) Dr.Buratto และ Dr.Pallikalis ได้นำเอา Excimer Laser มารักษาร่วมกับวิธี keratomileusis จนกลายเป็นการรักษาแบบ เลสิก ที่เรารู้จักในปัจจุบันนั่นเอง คำว่า LASIK ย่อมาจาก Laser In- Situ Keratomileusis ซึ่งประกอบด้วย 2 ขั้นตอนคือ การแยกชั้นกระจกตา และ ปรับความโค้งกระจกตาด้วย Excimer laser

ซึ่งทำให้ผลการรักษาแม่นยำยิ่งขึ้น ตั้งแต่ปี 1990 เป็นต้นมามีการพัฒนา 3 สิ่งหลักๆที่สำคัญในการทำเลสิกที่เป็นจุดเปลี่ยนส่งผลให้การทำเลสิกได้ผลดียิ่งขึ้น ได้แก่ การประดิษฐ์เครื่องแยกชั้นกระจกตาแบบ microkeratomeที่เป็นระบบอัตโนมัติ การแยกชั้นกระจกตาแบบที่เป็นแบบฝาพับ และ เทคนิคการปูชั้นกระจกตากลับเข้าที่เดิมแบบไม่มีรอยเย็บในปี คศ.1999 (พศ.2542) องค์การอาหารและยาแห่งสหรัฐอเมริกา (FDA) ได้ approved วิธีการรักษาสายตาด้วยเลสิก ซึ่งทำให้เลสิกเป็นที่นิยมอย่างมาก หลังจากนั้นเทคโนโลยีทางด้านเลสิกได้รับการคิดค้นและพัฒนาอย่างต่อเนื่องมาจนถึงระดับสูงสุดในปัจจุบัน

แหล่งอ้างอิง

JJ Machat, SG Slade, LE Probst. Evolution of Lamellar Refractive Surgery in: The art of LASIK, 2nd ed. Slack Inc: Thorofare, NJ; 1998:7-35.

สายตาผิดปกติ มีกี่แบบ

ในคนที่สายตาปกตินั้น จะมองเห็นได้ชัดเจนทั้งระยะใกล้และระยะไกล โดยเมื่อแสงผ่านเข้าตา จะไปโฟกัสที่จอประสาทตาพอดี ทำให้มองเห็นภาพชัดเจน ส่วนในคนที่สายตาผิดปกติ แสงจะไม่ไปตกโฟกัสที่จอประสาทตาพอดี ทำให้มองภาพไม่ชัด สายตาผิดปกติแบ่งได้เป็น 4 ชนิด คือ สายตาสั้น สายตายาวโดยกำเนิด สายตาเอียง และสายตายาวจากอายุ

1.สายตาสั้น

เป็นภาวะสายตาผิดปกติที่พบบ่อยที่สุด คนที่สายตาสั้นจะมีการมองเห็นที่ไกลไม่ชัด บางคนอาจมีอาการปวดศีรษะ ชอบหยีตาเวลามองไกล เกิดจากกระจกตามีความโค้งมากเกินไป หรือมีลูกตายาวกว่าปกติ ทำให้แสงที่ผ่านเข้าไปในตาไปโฟกัสก่อนถึงจอประสาทตา เราแบ่งภาวะสายตาสั้นได้เป็น 3 ระดับคือ

  • สายตาสั้นน้อย หมายถึงสายตาสั้นน้อยกว่า 300
  • สายตาสั้นปานกลาง หมายถึงสายตาสั้นระหว่าง 300-600
  • สายตาสั้นมาก หมายถึงสายตาสั้นมากกว่า 600 ขึ้นไป

2.สายตายาวโดยกำเนิด

กรณีนี้หมายถึงสายตายาวโดยกำเนิด ที่เป็นมาก่อนอายุ 40 ปี เกิดจากกระจกตาแบนหรือ มีขนาดของลูกตาสั้นกว่าปกติ ทำให้แสงที่ผ่านเข้าไปในตาไปโฟกัสที่หลังจอตาจะมีอาการมองไม่ชัดทั้งไกลและใกล้ ต้องอาศัยการเพ่งเพื่อให้ภาพชัดขึ้น

3.สายตาเอียง

เกิดจากกระจกตามีความโค้งของสองแกนไม่เท่ากัน คือแทนที่กระจกตาจะมีลักษณะเป็นทรงกลมที่มีความโค้งเท่ากันทุกแกน กลับมีลักษณะเป็นรูปรี ทำให้แสงผ่านเข้าตามีจุดรวมแสง 2 จุดที่อยู่ในตำแหน่งที่ต่างกัน จึงเห็นภาพเป็นเงาหรือมีภาพซ้อน อาจเกิดร่วมกับสายตาสั้นหรือสายตายาวได้ หรืออาจเป็นสายตาเอียงอย่างเดียวเราแบ่งภาวะสายตาเอียงได้เป็น 3 ระดับคือ

  1. สายตาเอียงน้อย หมายถึงสายตาเอียงน้อยกว่า 200
  2. สายตาเอียงปานกลาง หมายถึงสายตาเอียงระหว่าง 225-400
  3. สายตาเอียงมาก หมายถึงสายตาเอียงมากกว่า 400 ขึ้นไป

4.สายตายาวตามอายุ

เป็นสายตายาว ที่เกิดหลังอายุ 40 ปีขึ้นไป ทำให้มองใกล้ไม่ชัด เกิดจาการที่เลนส์แข็งตัวและกล้ามเนิ้อที่ใช้โฟกัสไม่ยืดหยุ่นเท่าตอนอายุน้อยๆ จึงมีความสามารถในการโฟกัสลดลง เกิดในทุกคนตามวัย ทำให้ต้องใช้แว่นอ่านหนังสือ

การแก้ไขปัญหาสายตา

  1. การใส่แว่นตา
  2. การใช้คอนแทคเลนส์
  3. การทำเลสิก

 

ใครบ้างที่ทำเลสิกไม่ได้

เลสิกไม่ได้เหมาะกับคนไข้ทุกคน ถ้าใครเคยอ่านรีวิวของคนไข้ที่มาตรวจประเมินสภาพตาก่อนทำเลสิก จะพบว่ามีคนไข้บางส่วนที่แพทย์ไม่แนะนำให้ทำเลสิก หรือทำไม่ได้ คนไข้กลุ่มนี้ได้แก่

  1. กระจกตาบาง โดยปกติในการรักษาด้วยวิธีเลสิก เราจำเป็นต้องเหลือเนื้อกระจกตาไว้ให้หนาอย่างน้อย 280-300 ไมครอน เพื่อคงความแข็งแรงของกระจกตาไว้ หากคำนวนแล้วพบว่าถ้าทำแล้วความหนาของกระจกตาเหลือน้อยกว่า 280 ไมครอนจะถือว่ากระจกตาบางเกินไป ไม่สามารถทำเลสิกได้ อาจต้องใช้วิธีอื่นๆแทนการทำเลสิก เช่นเลนส์เสริม หรือ PRK นอกจากนี้ในคนไข้ที่มีความหนาของกระจกตาที่น้อยกว่า 500 ไมครอนก็จัดอยู่ในกลุ่มของคนไข้ที่กระจกตาบางเช่นกัน
  2. เป็นโรคกระจกตาโก่งหรือกระจกตาย้วย เป็นข้อห้ามในการทำเลสิก เนื่องจากจะทำให้สภาพตาแย่ลง
  3. กำลังตั้งครรภ์ หรือให้นมบุตร เนื่องจากฮอร์โมนที่เปลี่ยนแปลงอาจทำให้ผลการรักษาไม่แม่นยำได้
  4. เป็นโรคออโต้อิมมูนหรือโรคภูมิแพ้ตัวเอง เช่น SLE รูมาตอยด์ เนื่องจากตัวโรคมีผลกับการหายของแผล และอาจมีตาแห้งผิดปกติ
  5. เคยเป็นโรคเริมที่กระจกตา จะกระตุ้นให้เกิดโรคเริมขึ้นมาได้บ่อยขึ้น
  6. มีต้อกระจก หากมีต้อกระจก แนะนำให้รักษาต้อกระจก ซึ่งจะช่วยรักษาสายตาสั้นไปด้วย
  7. โรคต้อหินขั้นรุนแรง
  8. เป็นเบาหวานที่ควบคุมไม่ได้หรือมีเบาหวานขึ้นตา
  9. มีตาแห้งมากๆ รักษาแล้วไม่ดีขึ้น

สำหรับโรคตาอื่นๆ ที่ตรวจพบแล้ว ยังไม่สามารถทำเลสิกได้ทันที แต่เมื่อรักษาแล้วสามารถทำเลสิกได้ ได้แก่ ภาวะจอประสาทตาเป็นรู ซึ่งมักพบในคนที่สายตาสั้นมาก สามารถรักษาโดยเลเซอร์ปิดรูที่จอประสาทตาก่อนจนหายดีแล้วค่อยมาทำเลสิก

การทำเลสิกมีกี่แบบ

วิธีการรักษาแบบเลสิก หมายถึงการรักษาที่ประกอบด้วย 2 ขั้นตอนคือ

  • ขั้นที่ 1 การแยกชั้นกระจกตา
  • ขั้นที่ 2 การเลเซอร์แก้ไขสายตา

ดังนั้น เลสิกจึงมีเพียง 2 แบบคือ

1.แบบแยกชั้นกระจกตาด้วยใบมีดจิ๋ว (Microkeratome LASIK)

ในปัจจุบัน เครื่องแยกชั้นกระจกตาที่เป็นที่นิยม คือ แบบ SBK (subBowman’s Keratomileusis) ซึ่งมีข้อดีคือสามารถแยกชั้นกระจกตาได้บางถึง 100 ไมครอน ใกล้เคียงกับการแยกชั้นกระจกตาแบบเลเซอร์ และมีความปลอดภัยสูง ให้พื้นผิวของกระจกตาที่เรียบ ลักษณะการเปิดชั้นกระจกตาจะเปิดทางด้านข้าง ทำให้รบกวนเซลล์ประสาทรับความรู้สึกน้อยกว่า

2.แบบแยกชั้นกระจกตาด้วยเลเซอร์ (Femto LASIK)

เป็นการใช้ Femtosecond Laser เปิดชั้นกระจกตา ลักษณะของเลเซอร์ชนิดนี้คือเมื่อยิงไปจะทำให้เกิด shock wave ทำให้ เกิดฟองอากาศในเนื้อเยื่อ ข้อดีคือความแม่นยำและปลอดภัยสูง โดยเฉพาะในคนไข้ที่มีความโค้งกระจกตามากๆ และสามารถทำได้ในคนที่ตาเล็ก แต่อาจจมีข้อจำกัดในคนที่กระจกตามีแผลเป็น เลเซอร์อาจจะไม่สามารถผ่านแผลเป็นได้แต่หากถามว่าวิธีการผ่าตัดแก้ไขสายตาที่นิยมในปัจจุบันมีกี่แบบ คำตอบจะเป็น ดังนี้ค่ะ

  1. PRK /Trans PRK
  2. เลสิก
  3. Relex SMILE

ทำเลสิกอันตรายไหม

เลสิกเป็นการรักษาที่มีความปลอดภัยสูงมาก จึงสามารถทำทั้ง 2ตาพร้อมกันได้ในวันเดียวกัน เป็นวิธีรักษาที่มีมานาน จึงมีผลการวิจัยและการพัฒนาในด้านเทคโนโลยีและเครื่องมืออย่างต่อเนื่องจนเกือบถึงระดับสูงสุดในปัจจุบัน ยังไม่เคยมีรายงานของคนไข้ที่ตาบอดจากการทำเลสิก และถึงปัจจุบันคนทั่วโลกกว่า 30 ล้านคนได้รับการรักษาด้วยวิธีเลสิกไปแล้วความเสี่ยงของการทำเลสิกมีอยู่ประมาณ 1% และโอกาสของการติดเชื้อที่แผลหลังทำเลสิกนั้น เคยมีการศึกษาพบว่าอยู่ที่ประมาณ 3 ต่อ 10000 ซึ่งต่ำกว่าเมื่อเทียบกับการใส่คอนแทคเลนส์ที่อัตราการติดเชื้ออยู่ที่ 11 ต่อ 10000

แหล่งอ้างอิง

Jordan Masters, Mehmet Kocak, Aaron Waite. Risk for microbial keratitis: Comparative metaanalysis of contact lens wearers and post-laser in situ keratomileusis patients. Journal of Cataract & Refractive Surgery, 2017; 43 (1): 67 DOI: 10.1016/j.jcrs.2016.10.022

ข้อดี ข้อเสีย ของการทำเลสิก

ข้อดี

  1. เป็นวิธีรักษาสายตาที่มีความแม่นยำสูง โอกาสสำเร็จมากกว่า 90% ทั้งนี้ขึ้นกับสภาพตาของแต่ละบุคคลด้วย
  2. มีความปลอดภัยสูง ยังไม่เคยมีรายงานของผู้ป่วยที่ตาบอดจากการทำเลสิก
  3. การฟื้นตัวของการมองเห็นรวดเร็ว หลังการรักษาเพียง 1 วัน ผู้ป่วยส่วนใหญ่สามารถมองเห็นได้มากกว่า 90%
  4. สามารถรักษาได้พร้อมกันทั้ง 2 ตาได้ในวันเดียวกันและ ไม่จำเป็นต้องนอนโรงพยาบาล
  5. ใช้เวลาพักฟื้นเพียง 1-2 วันก็สามารถเริ่มใช้สายตาได้
  6. ใช้เวลาในการรักษาสั้นมาก เพียงข้างละ 10 นาที และไม่จำเป็นต้องปิดผ้าปิดตา
  7. เป็นการรักษาสายตาอย่างถาวร หลังการรักษาผู้ป่วยส่วนใหญ่มักมีสายตาคงที่ มีเพียง 5-8% ที่อาจมีสายตาเปลี่ยนแปลง ซึ่งสามารถเติมเลเซอร์ได้ หากมีความหนาของกระจกตาเพียงพอ
  8. ช่วยเพิ่มคุณภาพชีวิตในการทำกิจกรรมต่างๆ เช่นเล่นกีฬา ดำน้ำ
  9. เพิ่มโอกาสการประกอบอาชีพในบางอาชีพ ที่มีข้อห้ามในการใส่แว่น
  10. เป็นการรักษาที่ไม่มีความเจ็บปวด เนื่องจากมีการใช้ยาชาหยอดตา ไม่ต้องฉีดยาชาหรือดมยาสลบ และไม่มีการเย็บแผล

ข้อเสีย

  1. ทำให้เกิดตาแห้งหลังทำ ซึ่งส่วนใหญ่มักดีขึ้นภายใน 3-6เดือน แต่ในบางรายที่ใส่คอนแทคเลนส์มานานเป็น 10 ปี หรือมีตาแห้งมากมาก่อน อาจมีตาแห้งเรื้อรังได้ สามารถแก้ไขได้โดยหยอดน้ำตาเทียมหล่อลื่นดวงตา
  2. ทัศนวิสัยของการมองเห็นในตอนกลางคืนอาจแย่ลงในบางราย เนื่องจากการลดลงของ contrast sensitivity แต่พบน้อยลงในการรักษาด้วยเครื่องเลเซอร์รุ่นใหม่ๆ
  3. การเกิดแสงกระจายในเวลากลางคืน ทำให้ขับรถลำบากในที่มืด มักพบในคนที่มีรูม่านตาโต หรือสายตาสั้นมากๆ เช่น สั้น 1000 หรือมีสายตาเอียงมากกว่า 300 ในช่วงแรกๆหลังทำเลสิก อาจมีแสงกระจายเกิดขึ้นได้ แต่มักจะค่อยๆ ดีขึ้นเองเรื่อยๆเมื่อแผลหายดี ภายใน 3-6 เดือน มีเพียงส่วนน้อยที่ยังมีภาวะแสงกระจายหลังทำเกิน 1 ปีไปแล้ว

ผลข้างเคียงของการทำเลสิก

การทำเลสิกอาจมีผลข้างเคียงตามมาได้ แต่มักจะเป็นไม่มากและเป็นเพียงชั่วคราว ส่วนใหญ่มักดีขึ้นเรื่อยๆเมื่อเวลาผ่านไป ได้แก่

1.ภาวะตาแห้ง

หลังการรักษาด้วยเลสิค แทบทุกรายจะมีอาการตาแห้งมากขึ้น จากการที่ไปรบกวนเซลล์ประสาทรับความรู้สึกที่กระจกตา จะมีอาการแสบตา เคืองตา ถ้าแห้งมากอาจมีมัวๆ ชัดๆ ซึ่งส่วนใหญ่จะดีขึ้นภายใน 3-6 เดือน ขึ้นกับสภาพตาของผู้ป่วยก่อนทำเลสิค ถ้าไม่เคยใส่คอนแทคเลนส์มาก่อนจะหายค่อนข้างเร็ว การรักษาทำได้โดยการหยอดน้ำตาเทียมบ่อยๆ

2.ภาวะแสงกระจายเวลากลางคืน

อาจเกิดได้ในช่วงแรกๆจากการที่แผลยังบวม และมักดีขึ้นเองเรื่อยๆ เมื่อแผลหายดี ผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงสูงที่จะเกิดภาวะแสงกระจาย หรือแสงฟุ้งในเวลากลางคืนได้แก่ ผู้ที่มีรูม่านตาโต ผู้ที่มีสายตาสั้นมากๆ เช่นเกิน 800 หรือผู้ที่มีสายตาเอียงมากๆ อย่างไรก็ตาม ด้วยเทคโนโลยีของเครื่องเลสิครุ่นใหม่ๆทำให้โอกาสเกิดแสงกระจายหลังทำลดลงมาก

เลสิก คืออะไร ภาวะแสงกระจาย

3.ค่าสายตาเหลือหลังทำเลสิก

หากหลังการรักษาแล้วยังมีค่าสายตาเหลือหรือมองไม่ชัด สามารถเติมเลเซอร์ได้อีกถ้ายังมีพื้นที่ของกระจกตาเหลือหนาพอ โดยปกติโอกาสที่จะต้องเติมเลเซอร์มีอยู่ประมาณ 5-8 % ทั้งนี้แพทย์จะป็นผู้ประเมินถึงความเหมาะสมในการเติมเลเซอร์ของผู้ป่วยแต่ละราย

4.การติดเชื้อของแผล

พบได้น้อยมาก ประมาณ 1 ต่อ 3000 ซึ่งสามารถรักษาโดยการใช้ยาปฏิชีวนะหยอด

 

เครื่อง WaveLight EX500 ดีอย่างไร

เลสิกมีกี่แบบ

ความแม่นยำของการรักษาด้วยวิธีเลสิก นอกจากจะขึ้นกับประสบการณ์ของจักษุแพทย์ที่ทำการรักษาแล้ว อีกปัจจัยสำคัญที่มีผลอย่างมากต่อผลการรักษาคือเครื่องเลเซอร์ที่ใช้รักษาสายตานั่นเองเครื่องเลเซอร์รุ่น WaveLight EX500 excimer Laser เทคโนโลยีล่าสุดจาก Alcon, Germany มีคุณสมบัติที่โดดเด่นในการรักษาสายตา มีนวัตกรรมใหม่ ที่แตกต่างจากเครื่องอื่นคือ

  1. ใช้เวลาในการรักษาสั้น โดยเฉลี่ยเพียงไม่ถึง 10 วินาที ทำให้ผู้ป่วยสามารถร่วมมือในการรักษาได้ดีขึ้น ด้วยความเร็วในการเลเซอร์ 500 ครั้ง ต่อ วินาที (500 Hz)
  2. มีระบบแสกนและถ่ายภาพม่านตา ของผู้ป่วยเป็นรายบุคคล (iris registration) ทำให้สามารถจับแกนเอียงได้แม่นยำยิ่งขึ้น
  3. ลดการเกิดแสงกระจายเวลากลางคืน ด้วย Wavefront optimized เทคโนโลยี ที่คงรูปร่างความโค้งของกระจกตาให้ใกล้เคียงธรรมชาติที่สุดหลังการรักษา
  4. มีระบบตรวจจับการเคลื่อนไหวของลูกตา อัตโนมัติระหว่างเลเซอร์ที่ไวมากถึง 1050 ครั้งต่อวินาที ( active laser eye tracking) จับการเคลื่อนไหวของลูกตาได้ถึง 6 ทิศทาง (six dimention eye tracker) ได้แก่ แกน x,y,z ,แกนหมุน (cyclotorsion)และ การเอียงของลูกตา(tilt) ทำให้เลเซอร์สามารถลงบนตำแหน่งที่ต้องการได้แม่นยำขึ้น
  5. ประหยัดเนื้อกระจกตา ในการรักษา ทำให้เพิ่มโอกาสในการรักษาด้วยวิธีเลสิกในคนไข้ที่มีค่าสายตามากๆ เช่น ในผู้ป่วยที่สายตาสั้น 1000 หากเลเซอร์กินเนื้อกระจกตามาก อาจทำให้คำนวณแล้วมีเนื้อกระจกตาหนาไม่พอที่จะทำการรักษา แต่ในกรณีที่เครื่องประหยัดเนื้อกระจกตา จะทำให้มีความหนาเพียงพอที่จะทำการรักษาได้
  6. ใช้ perfect pulse technology ควบคุมเลเซอร์ที่ออกมาให้มีความแม่นยำและปลอดภัยในการขัดผิวกระจกตา ตัวหมอเองตลอดชีวิตการเป็นหมอเลสิก ได้มีโอกาสใช้เครื่องเลเซอร์มาทั้งหมด 6 แบรนด์ และปัจจุบันหมอเลือกใช้ เครื่อง WaveLightEX500 ในการรักษาสายตา ด้วยความโดดเด่นทางด้านเทคโนโลยี ที่มีความปลอดภัยแม่นยำตามมาตรฐานสากล และการใช้เวลารักษาที่สั้น ทำให้คนไข้ร่วมมือในการรักษาได้ดียิ่งขึ้น

เครื่องแยกชั้นกระจกตาแบบ SBK เป็นอย่างไร

เครื่องแยกชั้นกระจกตาแบบ SBK หรือชื่อเต็มคือ sub Bowman’s Keratomileusis เป็นเครื่องแยกชั้นกระจกตารุ่นใหม่จากประเทศฝรั่งเศส ที่สามารถแยกชั้นกระจกตาได้บางถึง 100 ไมครอน ซึ่งเทียบเท่าความหนาของชั้นกระจกตา (flap) ที่ได้จาก Femtosecond lasers การแยกขั้นกระจกตาได้บางแบบนี้ เป็นวิวัฒนาการอีกกขั้นของการทำเลสิก ที่เรียกว่า thin flap LASIK

ข้อดีของ SBK คือ

  1. flap บางทำให้เหลือเนื้อกระจกตาที่ใช้รักษาค่าสายตาได้เพิ่มขี้น
  2. มีความแม่นยำและปลอดภัยสูง
  3. ให้พื้นผิวที่เรียบกว่า femtosecond lasers
  4. ฝาของกระจกตาเปิดทางด้านข้าง จึงรบกวนเนื้อเยื่อรับความรู้สึกน้อยกว่า จึงเกิดตาแห้งน้อยกว่า
  5. การกลับมามองเห็นคมชัดจะเร็วขึ้นกว่าเลสิกดั้งเดิมที่ flap หนา

สรุปข้อดีทั้งหมดทั้งมวลนี้ เราจึงเลือกใช้ SBK ให้กับคนไข้ของเราค่ะ

ทำเลสิกที่ไหนดี

ปัจจัยในการเลือกว่าจะทำเลสิกที่ไหนดีมีดังนี้

  1. เป็นศูนย์เลสิกที่น่าชื่อถือ มีรีววิวจากคนไข้ที่เคยทำไปแล้ว
  2. แพทย์จบเฉพาะทางด้านกระจกตาและเลสิกโดยเฉพาะ และควรมีประสบการณ์ในการรักษานานมากกว่า 7 ปีขึ้นไป
  3. ทำเล ไม่ไกลจากบ้านนัก เพราะหลังทำต้องมาตรวจติดตามหลังการรักษาอีกหลายครั้ง
  4. ราคาเหมาะสม ไม่แพงจนเกินไป
  5. เครื่องมือ สิ่งที่มีผลต่อผลลัพธ์ของการรักษาคือเครื่องเลเซอร์ที่ใช้แก้ไขสายตา ควรเป็นเทคโนโลยีที่ทันสมัย และปลอดภัยเช่นเครื่อง WaveLight EX500 ที่ศูนย์ของเราเลือกใช้

การเตรียมตัวก่อนมาตรวจประเมินสภาพตาเพื่อทำเลสิก

เลสิก คืออะไร

  1. โทรนัดวันที่จะเข้ามาตรวจ
  2. หยุดคอนแทคเลนส์อย่างน้อย 4-7 วัน ยิ่งหยุดนานยิ่งดี ถ้ามีเวลาอาจจะหยุด 1-2 สัปดาห์ก่อนมาตรวจ เพราะผู้ที่ใส่คอนแทคเลนส์มักมีปัญหาตาแห้ง และคอนแทคเลนส์อาจไปเปลี่ยนแปลงรูปร่างของกระจกตาให้ผิดปกติ จึงต้องหยุดใส่เพื่อให้กระจกตากลับมาสู่สภาพปกติ เพื่อให้ผลการตรวจวัดและรักษาแม่นยำมากขึ้น คอนแทคเลนส์ชนิดนิ่ม ควรหยุด 1-2 สัปดาห์ คอนแทคเลนส์ชนิดแข็ง ควรหยุดอย่างน้อย 3 สัปดาห์
  3. หากคุณเป็นคนที่มีตาแห้งหรือใส่คอนแทคเลนส์ประจำ แนะนำให้หยอดน้ำตาเทียม ชนิดที่ไม่มีสารกันบูดทุก 2 ชั่วโมงทุกวันก่อนมาตรวจ
  4. ไม่ขับรถมาเอง เพราะขั้นตอนการตรวจจะมีการหยอดยาขยายม่านตาเพื่อความแม่นยำในการวัดค่าสายตาและเพื่อตรวจจอประสาทตา ซึ่งจะทำให้ตาพร่าประมาณ 3-4 ชั่วโมง แล้วสายตาจึงจะกลับมาเป็นปกติดังเดิม

ควรแจ้งให้แพทย์ผู้รักษาทราบข้อมูลเกี่ยวกับประวัติการรักษาเกี่ยวกับตา และ โรคประจำตัวอื่นๆ รวมถึงประวัติการแพ้ยา


ขั้นตอนการตรวจตาเพื่อทำเลสิก

  1. วัดสายตาด้วยคอมพิวเตอร์ วัดความดันลูกตา อ่านตัวเลข
  2. วัดค่าสายตาด้วยการลองแว่น
  3. แสกนกระจกตาด้วยเครื่อง WaveLight topolizer และ Pentacam
  4. หยอดยาขยายม่านตา
  5. วัดสายตาหลังม่านตาขยายแล้ว
  6. พบแพทย์เพื่อตรวจตาอย่างละเอียด แพทย์จะนำข้อมูลทั้งหมดมาประมวลผล และให้คำปรึกษาว่าตาของเราสามารถทำได้หรือไม่ เหมาะกับวิธีไหน โอกาสสำเร็จ ผลข้างเคียง ที่อาจเกิดขึ้นได้

ระยะเวลาที่ใช้ในการตรวจทั้งหมดประมาณ 2.30 ชั่วโมง การหยอดยาขยายม่านตาทำเพื่อลดการเพ่งของกล้ามเนื้อตา และช่วยให้หมอสามารถตรวจจอประสาทตาได้อย่างละเอียดด้วยค่ะ

 

การเตรียมตัวในวันทำเลสิก

เนื่องจากเลสิกเป็นการรักษาที่ใช้เวลาไม่นานและไม่เจ็บ ดังนั้นจึงไม่ควรกังวลมากเกินไป และไม่แนะนำให้ดู วิดีโอใน youtube เพราะจะทำให้เราจินตนาการเกินความจริง ควรทำใจให้สบาย หากมีความกังวลมาก สามารถแจ้งแพทย์ให้รับทราบและขอยาคลายกังวลจากแพทย์เพื่อช่วยให้ผ่อนคลายขึ้นได้ การเตรียมตัวมีดังนี้ค่ะ

  1. ไม่แต่งหน้า เพื่อลดโอกาสติดเชื้อของแผล โดยเฉพาะแป้งฝุ่น ซึ่งจะเห็นเป็นฝุ่นผงในตาที่ล้างออกให้หมดได้ยาก
  2. ไม่ใส่น้ำหอมหรือผลิตภัณฑ์ใส่ผมที่มีกลิ่น เพราะalcohol ในน้ำหอมจะไปจับกับกระจกของเครื่องเลเซอร์ได้
  3. สระผมมาให้เรียบร้อยในคืนก่อนผ่าตัด เพราะหลังทำจะห้ามน้ำเข้าตา 7 วัน จึงไม่สามารถสระผมแบบปกติได้ หลังทำถ้าจะสระผมต้องไปนอนสระที่ร้านในช่วง 7 วันแรก
  4. ใส่เสื้อกระดุมผ่าหน้า เพื่อให้สะดวกในการถอดและไม่กระทบดวงตาเหมือนเสื้อที่สวมทางศรีษะ
  5. ควรพาเพื่อนหรือญาติมาเป็นเพื่อนด้วย
  6. สามารถรับประทานอาหารได้ตามปกติ

ขั้นตอนการทำเลสิก

  1. เปลี่ยนชุด ใส่เสื้อคลุม ใส่หมวกคลุมผม
  2. ล้างหน้าให้สะอาด
  3. หยอดยาชาและยาแก้อักเสบ
  4. เข้าห้องผ่าตัด เมื่อนอนบนเตียงเลเซอร์ระหว่างทำควรมีสมาธิ มองตรง ไม่บีบตาและไม่กลอกตาไปมา หน้าไม่หันไปมาหรือก้มลง แพทย์จะช่วยจัดหน้าของคนไข้ให้ตรงก่อนเลเซอร์
  5. ช่วงที่เลเซอร์จ้องไฟให้นิ่ง ยิ่งนิ่งผลการรักษายิ่งแม่นยำ การเลเซอร์ใช้เวลาสั้นๆ เพียงแค่ 10-20 วินาทีเท่านั้น ระยะเวลาขึ้นกับค่าสายตาว่ามากน้อยเพียงใด
  6. หลังทำเสร็จ เมื่อแพทย์เช็คดูความเรียบร้อยของแผลแล้ว จะครอบฝาครอบที่ตา ป้องกันการขยี้ตา ให้กินยาแก้ปวด เพราะเมื่อยาชาหมดฤทธิ์จะเริ่มมีแสบตาน้ำตาไหลเมื่อกลับถึงบ้านให้รีบนอนพัก อย่าเพิ่งใช้สายตา หลังจากนั้นแพทย์จะนัดดูแผลในวันรุ่งขึ้น

การดูแลหลังเลสิกในช่วง 7 วันแรก

  1. ห้ามน้ำเข้าตา 7 วัน โดยให้ใช้สำลีชุบน้ำเกลือหมาดๆทำความสะอาดรอบดวงตา และใช้ผ้าสะอาดเช็ดหน้า
  2. ห้ามขยี้ตา จะทำให้แผลย่นได้
  3. ครอบฝาครอบที่ตาก่อนนอน 7 วัน เพื่อป้องกันเผลอขยี้ตาหรือกดทับตาขณะหลับ
  4. หยอดยาฆ่าเชื้อและน้ำตาเทียมตามที่แพทย์สั่ง
  5. วิธีหยอดยาให้ถูกต้องคือล้างมือให้สะอาด ซับให้แห้ง แล้วดึงเปลือกตาล่างลง มองขึ้นบน หยดยาลงในกระพุ้งที่เปลือกตาล่าง 1 หยด แล้วหลับตาสักครู่ให้ยาดูดซึม หากมียา 2 ตัวให้หยอดห่างกัน 5 นาที
  6. ใส่แว่นกันแดด เพื่อป้องกันแสง UV เวลาออกไปข้างนอก อย่างน้อย 2 เดือน ในบ้านหรือในสำนักงาน ไม่จำเป็นต้องใส่แว่นกันแดด
  7. งดออกกำลังกาย 7 วัน เพื่อไม่ให้เหงื่อเข้าตา หลัง 7 วันสามารถออกกำลังได้ ยกเว้นว่ายน้ำติองรอ 1 เดือน ส่วนดำน้ำลึก รอ 3 เดือน
  8. เมื่อเห็นดี สามารถขับรถได้ สามารถทำงานใช้คอมพิวเตอร์ได้ แต่อาจมีตาแห้งบ้าง มีมัวๆ ชัดๆ บ้างในช่วงแรก ให้หยอดน้ำตาเทียมถ้าเคือง

การนัดตรวจหลังทำเลสิก

โดยทั่วไป แพทย์จะนัดตรวจ

  1. วันรุ่งขึ้น
  2. ครบ 1 สัปดาห์
  3. ครบ 1 เดือน
  4. ครบ 3 เดือน
  5. ครบ 6 เดือน

เพื่อดูแผล ดูตาแห้ง และค่าสายตา รวมถึงสภาพตาทั่วๆ ไป

ความคาดหวังในการรักษาด้วยเลสิก

คนไข้หลายๆคนถามหมอว่าหลังทำสายตาจะเป็นศูนย์หรือไม่ จริงๆแล้วไม่ทุกคนค่ะที่ค่าสายตาเป็นศูนย์หลังการรักษา จุดประสงค์ของการรักษาด้วยเลสิกคือการที่คนไข้สามารถอ่านตัวเลขแถว 20/20 ได้ด้วยตาเปล่า ซึ่งถือว่าเป็นค่าสายตาปกติ ( ค่าสายตา 20/20 หมายถึงเมื่อเรายืนห่างจากชาร์ตตัวเลขที่ใช้อ่านค่าสายตา ที่ระยะ 20 ฟุตหรือ เมตรแล้วสามารถอ่านตัวเลขที่อยู่เหนือเส้นแดงได้) หลังทำเลสิกคนไข้ส่วนใหญ่สามารถอ่านแถว 20/20 ได้ถึง 95% ขึ้นไปค่ะ

โดยทั่วไปแพทย์จะไม่สามารถการันตีว่าคนไข้จะได้ค่าสายตาเป็นศูนย์ทั้งนี้เพราะมีปัจจัยหลายๆอย่างที่เกี่ยวข้อง เช่น ค่าสายตาก่อนทำ ความร่วมมือของคนไข้ ความแม่นยำของเลเซอร์ สภาพตาของคนไข้ก่อนทำ

เลสิก คืออะไร

 

อาการที่พบได้หลังทำเลสิก

  1. ในวันแรกหลังทำเสร็จใหม่ๆ เมื่อออกจากห้องผ่าตัด ตาจะยังมัวเห็นเป็นหมอกๆ เพราะแผลยังบวมอยู่ แต่ยังมองเห็นได้ หลังจากนั้นเมื่อยาชาหมดฤทธิ์จะเริ่มมีอาการแสบ เคืองตา น้ำตาไหล ลืมตาไม่ขึ้น แนะนำไห้หลับตาเบาๆ ไม่ควรบีบตาแรง และเมื่อถึงบ้านให้กินยานอนหลับนอนพักสักงีบ เมื่อตื่นมาอาการเคืองตาจะดีขึ้นมากและเริ่มเห็นดีขึ้น
  2. ใน สัปดาห์แรก อาจจะมีอาการเคืองตาใน 2-3 วันแรก เหมือนมีเศษอะไรในตา อาจมีตามัวๆชัดๆ มีตาแห้งแสบตาเล็กน้อย ซึงอาการจะค่อยๆดีขึ้นเรื่อยๆ วันรุ่งขึ้นคนไข้ส่วนใหญ่จะมองเห็นได้ดีประมาณ 90% และ การมองเห็นจะค่อยๆ ดีขึ้นแนะนำให้หยอดน้ำตาเทียมบ่อยๆ และเริ่มใช้สายตาได้ ถ้ามองเห็นดีแล้วสามารถขับรถได้ หากต้องใช้งานหน้าจอ อาจมีอาการตาแห้ง แนะนำให้พักสายตาทุกครึ่งชั่วโมงโดยการหลับตาพักสักครู่ แล้วจึงค่อยใช้คอมพิวเตอร์ต่อ
  3. หลังสัปดาห์แรกถึง 3 เดือน การมองเห็นจะค่อยๆดีขึ้นและเริ่มคงที่มากขึ้น คนไข้จะเริ่มปรับตัวกับสายตาใหม่ได้ดีขึ้น อาการตาแห้งจะมากในช่วง 1 เดือนแรก และค่อยๆดีขึ้นเรื่อยๆ หากยังมีอาการตาแห้ง เช่นแสบตา ลืมตาตอนเช้าแล้วฝืดๆตา หรือมีน้ำตาไหล แนะนำให้หยอดน้ำตาเทียมทุก 2 ชั่วโมงไปเรื่อยๆ จนอาการดีขึ้น จึงค่อยๆลดความถี่ลงได้
  4. ช่วง 3-6 เดือน คนไข้ส่วนใหญ่มักมีอาการตาแห้งน้อยลงมากแล้ว บางคนสามารถหยุดน้ำตาเทียมได้ และค่าสายตามักคงที่ดีแล้ว

เลสิกแบบโมโนวิชั่นคืออะไร

ในคนที่เคยมีสายตาสั้นมาก่อน เมื่ออายุเกิน 40 ปีขึ้นไป ทุกคนจะเริ่มมีอาการสายตายาวตามอายุร่วมด้วย ทำให้มองใกล้ไม่ชัด สายตายาวจากอายุนี้จะเพิ่มไปเรื่อยๆจนถึงอายุ 60 ปี สายตายาวกับสายตาสั้นนี้จะไม่หักลบกันไปเป็นศูนย์อย่างที่หลายๆ คนเข้าใจผิดกัน ในความเป็นจริงคือมีสายตาสั้นเหมือนเดิมและเพิ่มสายตายาวไปด้วยในที่ใกล้ หากเราไม่ทำเลสิก เราอาจต้องใช้แว่นสองชั้น หรือในบางคนใช้เป็นแว่นโปรเกรสซีฟ เพื่อให้ชัดทั้งไกลและใกล้แต่สำหรับคนที่อยากทำเลสิก ที่อายุเกิน 40 ปีแล้วนั้น เนื่องจากเลสิกยังไม่สามารถแก้ไขสายตายาวได้โดยตรง จึงมี 2 ทางเลือก

  • ทางเลือกที่ 1 คือ เลสิกแก้ไขสายตาที่ไกลให้เป็นปกติทั้งสองตา ส่วนสายตายาวที่ใกล้ ใช้แว่นอ่านหนังสือ
  • ทางเลือกที่ 2 คือ โมโนวิชั่นเลสิก จุดประสงค์ของการทำแบบนี้คือเพื่อให้ไม่ต้องใส่แว่นมองใกล้ วิธีนี้เป็นการแก้ไขสายตาข้างหนึ่งให้มองเห็นไกล และตาอีกข้างหนึ่งให้มองใกล้ชัด

ต้องอธิบายดังนี้ โดยปกติตาเราจะมีตาหลัก ตารอง คล้ายกับการที่เราถนัดมือขวา ถนัดมือซ้ายการทดสอบหาตาที่ถนัดทำได้โดยนึกถึงการยิงปืน ที่เราต้องหลับตาข้างหนึ่งแล้วใช้ตาอีกข้างหนึ่งเพื่อเล็งไปที่เป้า ตาข้างที่เราเปิด เพื่อจะเล็งเป้าจะเป็นตาหลัก ส่วนตาที่เราปิดไว้นั่นคือตารอง เช่นในรูปนี้คือ ถนัดตาขวา ตาขวาเป็นตาหลัก ตาซ้ายเป็นตารอง

การทำเลสิกแบบโมโนวิชั่น คือการแก้ไขสายตาให้ตาหลักเห็นชัดในที่ไกล และ เหลือค่าสายตาสั้นไว้เล็กน้อยในตารอง เพื่อใช้ในการมองใกล้ เพราะการที่เรามีสายตาสั้น จะช่วยให้เรามองใกล้ได้ดีกว่าปกติ ด้วยภาวะนี้ สองตาจะทำงานร่วมกันโดยอัตโนมัติทำให้คนไข้มองเห็นได้ดีทั้งใกล้และไกล ภาวะโมโนวิชั่นนี้ไม่ได้ใช้เฉพาะในการทำเลสิกเท่านั้น การตัดแว่น หรือการใส่คอนแทคเลนส์ก็สามารถปรับสายตาให้เป็นแบบโมโนวิขั่นได้ ในคนที่อายุ 40 ขึ้นไปยกตัวอย่างเช่น คุณ เก๋ อายุ 41 ปี เดิมมีสายตาสั้น 300 ทั้งสองตา และวัดได้สายตายาว +100 ตรวจแล้วถนัดตาขวาดังนั้น ถ้าเราจะแก้แบบโมโนวิชั่น เราจะแก้ดังนี้ คือ ตาขวา แก้ให้สายตาปกติ เป็นศูนย์ เพื่อให้มองไกลชัด ส่วนตาซ้ายแก้ให้เหลือสายตาสั้น 100 เพื่อให้มองใกล้ชัด

วิธีนี้จะช่วยยืดเวลาที่เราจะต้องใช้แว่นมองใกล้ให้นานออกไปอีก 2-3 ปี วิธีนี้สมองจะปรับตัวให้ตา 2 ข้างใช้สลับกันไปมาแบบอัตโนมัติการรักษาแบบโมโนวิชั่นนี้ ไม่ได้เหมาะกับทุกคน จำเป็นต้องมีการทดลองดูก่อนว่าเหมาะกับเราหรือไม่ โดยการลองใส่แว่นหรือคอนแทคเลนส์ จำลองภาวะโมโนวิชั่นดูว่าชอบหรือไม่ จำเป็นต้องลองด้วยตัวเองทุกคนแล้วค่อยตัดสินใจ

เมื่อหมออธิบายถึงวิธีการแบบนี้ให้คนไข้ฟัง ส่วนใหญ่คนไข้จะงง และต่อต้านไว้ก่อน เพราะคิดว่าเป็นวิธีการใหม่ที่ประหลาด แต่จริงๆแล้วมีคนไข้มากมายหลายคน ที่ทำโมโนวิชั่นไปแล้วชอบมากและรู้สึกสะดวกสบายกับการใช้ชีวิตที่พึงพาแว่นน้อยลง โดยทั่วไปโมโนวิชั่นจะเหมาะกับคนที่ไม่ชอบใส่แว่น ซึ่งจะมีแรงจูงใจสูงในการปรับตัว คนที่ทำงานใกล้เป็นหลัก คนที่ไม่ขับรถกลางคืน และคนที่ไม่ได้เล่นกีฬาที่ใช้สายตาไกลมากๆ เช่นตีกอล์ฟข้อดีของโมโนวิชั่น คือ ทำให้พึ่งพาแว่นอ่านหนังสือน้อยลง โดยทั่วไปจักษุแพทย์จะตรวจประเมินและให้คำปรึกษาแก่ผู้ป่วยแต่ละราย และตัดสินใจร่วมกันว่าเหมาะกับการรักษาแบบโมโนวิชั่นหรือไม่

ทางเลือกอื่นในการรักษาสายตานอกจากวิธีเลสิก

วิธีการรักษาสายตาวิธีอื่นๆ มีหลายวิธี ดังนี้

1.PRK ( PhotoRefractive Keratectomy)

PRK เป็นวิธีการรักษาสายตาโดยใช้วิธีการลอกผิวกระจกตาด้วยสารละลายอัลกอฮอล์เจือจาง แล้วเลเซอร์แก้ไขสายตาข้อดี

  1.  ไม่มีการแยกชั้นกระจกตา จึงทำให้ความแข็งแรงของกระจกตามากกว่าวิธีอื่นๆ
  2. สามารถทำได้ในคนที่กระจกตาค่อนข้างบาง
  3. คนที่ตาเล็ก ไม่สามารถใส่เครื่องมือที่จะทำเลสิคได้ สามารถทำวิธีนี้แทน
  4. เหมาะกับคนที่เล่นกีฬาผาดโผน กีฬาที่ต้องมีการประทะ เพราะไม่ต้องกังวลเรื่องการกระทบกระเทือนตา เนื่องจากแผลจะหายเป็นเนื้อเดียวกันหลังทำจะมีอาการตาแห้งน้อยกว่าวิธีเลสิค

ข้อเสีย

  1. หลังทำจะมีเจ็บเคืองอยู่ประมาณ 3-4วัน จึงต้องหยุดพักฟื้นหลังทำนานกว่าวิธีเลสิก โดยทั่วไปแนะนำให้ลางานประมาณ 4-5วัน
  2. การฟื้นตัวของการมองเห็นช้ากว่า มักใช้เวลาประมาณ 2 สัปดาห์ กว่าจะเห็นได้ดีพอควรและจะดีขึ้นเรื่อยๆภายใน 2-4 เดือน
  3. หลังทำต้องหยอดยาประมาณ 2-3 เดือน เพื่อปรับการหายของแผล หากไม่หยอดอาจทำให้เกิดรอยฝ้าของแผลได้

2.Trans PRK

Trans PRK เป็นวิธีที่พัฒนาต่อมาจาก PRK โดยมีหลักการเช่นเดียวกับวิธี PRK ต่างกันที่ขั้นตอนการลอกผิวกระจกตา วิธี Trans PRK ใช้เลเซอร์ในการขัดผิวกระจกตาแทนการใช้สารละลายอัลกอฮอล์ ทำให้แผลเล็กกว่า เรียบกว่า และการฟื้นตัวของการมองเห็นกลับมาเร็วกว่าวิธี PRK แบบเดิม

เลสิกมีกี่แบบ

3.Relex SMILE

เป็นวิธีใหม่ล่าสุดในการรักษาสายตา โดยใช้ femtolaser ยิงกระจกตาเป็นแผ่น แล้วดึงแผ่นนี้ออกมาทางแผล

ข้อดี

  • แผลเล็ก
  • ไม่มีการแยกชั้นกระจกตา
  • ตาแห้งน้อยกว่าวิธีเลสิค

ข้อเสีย

  • ไม่สามารถรักษาสายตายาวได้ รักษาได้เฉพาะสายตาสั้น สายตาเอียง
  • ไม่สามารถทำซ้ำได้ หากมีสายตาเหลืออาจต้องเติมเลเซอร์ด้วยวิธีอื่น เช่น PRK
  • ความคมชัดของการมองเห็นกลับมาช้ากว่าวิธีเลสิกเล็กน้อย ประมาณ3-4วัน
  • ยังไม่มีระบบจับแกนเอียงอัตโนมัติในเครื่องรุ่นปัจจุบัน

4. เลนส์เสริม ICL

  • เหมาะสำหรับคนที่มีกระจกตาบาง หรือสายตาสั้นหรือเอียงมากจนไม่สามารถทำเลสิก หรือ PRK ได้
  • เหมาะสำหรับผู้ที่อายุน้อยกว่า 45 ปี
  • ต้องมีช่องหน้าลูกตาที่กว้างพอ
  • ต้องไม่มีโรคทางตาอื่นๆ เช่นต้อหิน ต้อกระจก
  • สามารถรักษาสายตาสั้น ได้ถึง-18.00 และสายตาเอียงได้ถึง -6.00

เลสิก คืออะไร

ข้อดี

  • สามารถแก้ไขสายตาสั้น สายตาเอียงได้มากกว่าวิธีเลสิก
  • หลังทำไม่ค่อยมีอาการตาแห้ง

ผลข้างเคียง

  • อาจมีความดันลูกตาสูงขึ้นชั่วคราววันแรก หลังผ่าตัด ซึ่งแพทย์จะพิจารณาให้ยาลดความดันลูกตาตามความเหมาะสม
  • มีโอกาสติดเชื้อได้ แต่น้อย ประมาณ 1ใน 10000 ราย

รีวิวทำเลสิก

สรุป

เลสิกเป็นนวัตกรรมในการรักษาสายตาที่ได้ผลดี ทั้งนี้เพราะมีความแม่นยำสูง ฟื้นตัวเร็ว และปลอดภัย นอกจากนี้เทคโนโลยีและเครื่องมือในการทำเลสิกได้รับการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ทำให้ผลการักษาดียิ่งขึ้น จึงเป็นที่นิยมมากในปัจจุบัน

แหล่งอ้างอิง

Jordan Masters, Mehmet Kocak, Aaron Waite. Risk for microbial keratitis: Comparative metaanalysis of contact lens wearers and post-laser in situ keratomileusis patients. Journal of Cataract & Refractive Surgery, 2017; 43 (1): 67 DOI: 10.1016/j.jcrs.2016.10.022 JJ Machat, SG Slade, LE Probst. Evolution of Lamellar Refractive Surgery in: The art of LASIK, 2nd ed. Slack Inc: Thorofare, NJ; 1998:7-35.

 

ทำเลสิกเหมือนได้เกิดใหม่ เปิดประสบการณ์ใหม่มองโลกชัดเจนสดใสไม่ต้องใช้แว่น สนใจ inbox 🌈🌈😀

👉เลสิก ใช้เวลาเพียงข้างละ 10 นาที ไม่เจ็บ ไม่ต้องนอนโรงพยาบาล ทำวันนี้ พรุ่งนี้ก็มองเห็นแล้ว❤️😀

✅ แพทย์เฉพาะทางด้านเลสิก ประสบการณ์กว่า 15 ปี

✅ เครื่องเลเซอร์รุ่นใหม่ WaveLight EX500 แม่นยำและปลอดภัยสูง

✅ ราคาคุ้มค่า 38,500 มี โปรโมชั่นส่วนลดเพิ่ม ***

✅ ผ่อนสบายๆ 0 % กับบัตรเครดิตที่ร่วมรายการ

#เลสิกหมอขนิษฐา #เลสิกไทยนครินทร์

เลสิกหมอขนิษฐา จักษุแพทย์เฉพาะทางด้านเลสิก ประสบการณ์กว่า 15 ปี